

2021 อุบัติการณ์ล้างไพ่จาก โควิด-19
เมื่อ Covid-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายท่ีไม่เหมือนเดิม ส่งผลกระทบต่อไปยังหลากหลายอุตสาหกรรม (Disruptive Dominos) บางธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด บางธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันก็ต้องปิดตัวลงในที่สุด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ทั้งธุรกิจด้านการศึกษา, ท่องเที่ยว, ธนาคาร, ร้านอาหาร, โรงแรม และอื่นๆ ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น เช่น ธุรกิจร้านอาหาร จะเห็นว่ามีการปิดตัวลงของร้านอาหารหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ หรือถ้าบริหารจัดการได้ดี ก็จะมีแผนตั้งรับกับวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น ร้าน penguin eat shabu ที่ปรับตัวจากการขายเพียงแค่หม้อและชาบู เปลี่ยนเป็นการนำทุเรียนมาเพิ่ม เพื่อเรียกยอดขายในช่วงที่มีมาตรการภาครัฐห้ามนั่งทานในร้าน เป็นต้น
“E-Commerce โตกระฉูด 58%”
เช่นเดียวกัน ปี 2021 ก็เป็นปีที่มีธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย นั่นคือ ธุรกิจ E-Commerce ซึ่งเติบโตมากถึง 58% เนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตติดบ้านตั้งแต่ตื่นนอน ทานอาหาร ทำงาน จนเข้านอน เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับสื่อออนไลน์ ขณะที่ประเทศแถบเพื่อนบ้านใน South East Asia อย่าง ประเทศสิงคโปร์ ก็เติบโตเช่นกัน โดยรองลงมาอยู่ที่ 47% และ ประเทศอินโดนีเซีย 15% ซึ่งจากการวิจัยพบว่า สินค้าที่มักซื้อขายกันบนโลกออนไลน์ ได้แก่ ของใช้ภายในบ้าน, เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ สื่อ Entertainment ภายในบ้าน เช่น หนัง หรือ เพลง เป็นต้น
Work-ไร้-Balance (Everything + Everywhere => Everyone)
ต่อมา ธุรกิจการศึกษาก็มีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน หลายโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เปลี่ยนการเรียนการสอนผ่านทางสื่อออนไลน์เป็นหลัก (Study from Home) ทำให้นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ต้องปรับตัวกันมากขึ้น อาจารย์ผู้สอนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน และนอกจากในรั้วโรงเรียนแล้ว ยังมีผลการสำรวจพบว่า พฤติกรรมการทำงานของพนักงานก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หลายบริษัทมีมาตรการรองรับการทำงานจากบ้าน (work from home / work from anywhere) ในระยะยาวเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
บริษัท Builk มีนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่ coworking space ที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัท หรือแม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค ที่อาศัยความรวดเร็วฉับไวของข้อมูล และความปลอดภัยที่ต้องสูงสุดเป็นหลัก อย่าง บริษัท กสิกรไทย บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (หรือ KBTG) ก็ได้ใช้นโยบาย 3-2 วัน กล่าวคือ ให้พนักงานเข้าออฟฟิศ 3 วัน และ 2 วันทำงานที่บ้าน เป็นต้น
จากที่กล่าวมานี้ อาจไม่ได้ราบรื่นไปทั้งหมด เพราะยังคงเหลือความท้าทายที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือ การบริหารความเครียดของพนักงาน ซึ่งอาจจะมาจากการประชุม online การบริหารเวลาในการทำงาน การพักผ่อนที่บ้าน (Work Life Balance) การรักษาระดับความสัมพันธ์ของพนักงานในองค์กรให้ยังคงแน่นแฟ้นอยู่เสมอ รวมถึงการมอบความเห็นอกเห็นใจแก่เพื่อนร่วมงาน (Empathy) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้
2024-2025 โลกจะเกิดเทรนด์ใหม่ จากธุรกิจที่ปรับตัวใหม่
ธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็วจะสามารถสร้างผลกำไรและเติบโตได้ในช่วงอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยเริ่มจาก..
ตลาด VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality)
จะกลับมาสร้างกระแสและผลตอบรับที่ดีขึ้นกว่าเดิม เห็นได้จากข่าว Apple Glass ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเปิดขายออกสู่ตลาดในปี 2025 และมีรายได้เติบโต 59%* จากอัตราการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยเทคโนโลยี AR ทำให้เห็นภาพเสมือนจริงจากภายนอกได้ผ่านดวงตา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์มากหากนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ตัวอย่างเช่น Apple Glass คาดว่าจะนำไปใช้ในทางการแพทย์ เพื่อดูอวัยวะภายในร่างกายที่มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้, อุตสาหกรรมการผลิต เพื่อให้เห็นกระบวนการและขั้นตอนการผลิตเป็นภาพที่ชัดเจน ทำให้การผลิตและการสร้างสินค้าทำได้รวดเร็วและแม่นยำมากกว่าเดิม เป็นต้น นอกจากนั้น บริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ เช่น Facebook และ Snapchat ก็เริ่มลงทุนกับการพัฒนาเทคโนโลยี AR ภายในองค์กรมากขึ้น อนาคตเราอาจจะต้องเริ่มปรับตัวกับการใส่ “แว่นตาที่เพิ่มวิสัยทัศน์การมองเห็นทัศนียภาพดิจิตัล” อีกด้วย
ประเทศไทยในปี 2024-2025
การเข้าสู่ยุค Silver Economy อย่างเต็มตัว
ยุค Silver Economy หรือ ยุคที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเป็นประชากรหลักของประเทศ ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านนวัตกรรมให้สามารถตอบสนองความต้องการผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ Aging Society ปัจจุบันพบว่า กำลังซื้อและพฤติกรรมการบริโภคอุปโภค รวมถึงไลฟ์สไตล์ ความคิดอ่าน และการทำงานของผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะอ่านรีวิว หรือศึกษารายละเอียดถี่ถ้วนก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการที่ดีต่อเขาจริงๆ
ตัวอย่างนวัตกรรมที่เริ่มปรับตัวเข้ากับ Silver Economy เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ได้แก่ การมีบริการตรวจจับการลื่นล้มของผู้สูงอายุ กรณีที่อยู่ภายในบ้านเพียงลำพัง, smart censor ตรวจจับการเคลื่อนไหวและร่วงหล่นในห้องน้ำ หากผู้สูงอายุลื่นและล้มในห้องน้ำจะมีการแจ้งเตือนทันที เป็นต้น
2028-2030 โค้งสุดท้ายแห่งทศวรรษ โลกจะเห็นอะไรที่แตกต่างชัดเจนขึ้น?
การเคลื่อนย้าย การเดินทาง การขนส่งสินค้า และการชำระเงิน จะถูกทำให้ ‘ง่ายขึ้น’
มีการคาดการณ์อนาคตไว้ว่า ผู้คนจะใช้ชีวิตออกห่างจากตัวเมืองมากขึ้น (Deurbanization) มองหาความสงบใกล้ชิดกับธรรมชาติ ธุรกิจขนส่งเริ่มปรับตัวมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและลดการใช้พลังงาน เช่น การลดการใช้เครื่องบินในการโดยสารและเปลี่ยนมาเป็นรถไฟแทน โดยใช้ Hyperloop หรือการใช้โดรนบินในการขนส่งสินค้า ซึ่งสะดวกกว่าในแง่การขนส่งระยะไกลไปยังผู้คนในตัวเมือง ที่รวดเร็ว ถูกลง และประหยัดพลังงานขึ้น
ที่มา : https://www.disruptignite.com/blog/new-world-trends-in-2030